โดย พระพจนารถ ปภาโส
รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
ความมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีความวัฒนาสถาพร อันเกิดจากความมั่นคงเข็มแข็งทางเศรษฐกิจ และไม่มีปัญหาทางสังคม เป็นเจตจำนงที่บัณฑิตชนชาวไทยทุกคนปรารถนา การเรียกร้องให้รัฐบาลได้บริหารประเทศด้วยหลักธรรมาภิบาลจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะมีแต่การคิดและพูดถึงหลักธรรมาภิบาลของหลายคน หายนะในการปกครองของประเทศไทยจึงเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความคิดนั้น ถึงเวลาแล้วที่ ชาวไทยทุกคนจะต้องทำตนให้มีหลักธรรมาภิบาลในกิจการของตน ถ้าทุกคนสามารถสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในกิจการของตนได้แล้ว การประสานเสริมสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ระหว่างกิจการของแต่ละบุคคล ย่อมนำให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ ความวัฒนาสถาพรของประเทศไทย ย่อมเป็นผลงานที่ควรแก่ความภูมิใจของทุกคนบนพื้นแผ่นดินไทน
ธรรมาภิบาล หมายถึง การปกครองด้วยการบริหารจัดการที่ดีงาม ที่เป็นธรรม อันประกอบด้วย หลักการ ๖ อย่าง คือ ๑. หลักนิติธรรม , ๒. หลักคุณธรรม , ๓. หลักความโปร่งใส , ๔. หลักการมีส่วนร่วม , ๕. หลักความรับผิดชอบ และ ๖. หลักความคุ้มค่า
๑. หลักนิติธรรม หมายถึง การตรากฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับและกติกาต่างๆ ในการบริหาร ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ทุกคนที่เกี่ยวข้อง มีการยอมรับและยินดีที่จะปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ ด้วยเห็นถึงความเสมอภาคและความเป็นธรรม อันจักเกิดขึ้นในสิทธิประโยชน์ของตน
๒. หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดถือและเชื่อมั่นในความถูกต้องดีงาม ตรงตามธรรม ของบุคคล ในการปฏิบัติหน้าให้สัมฤทธิผลตามเป้าหมาย ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่, ความเสียสละเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กิจการ, ความขยันหมั่นเพียรและอดทนทำกิจการจนบรรลุเป้าหมายของกิจการนั้น, ความมีระเบียบวินัยในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น
๓. หลักความโปร่งใส หมายถึง การบริหารกิจการอย่างเปิดเผยบนพื้นฐานของความสุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง กอปรด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกันในการดำเนินงาน สามารถตรวจสอบความบริสุทธิ์ใน กิจการได้ในทุกขั้นตอน ไม่มีการทุจริตในกิจการ
๔. หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง การที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในกิจการมีส่วนรับรู้ และมีส่วนช่วยใน กิจการ ตามกำลังความสามารถของตน อันจะนำให้เกิดความสามัคคีในการดำเนินกิจการให้เกิดความสำเร็จตามนโยบายที่กำหนดไว้ การประสานงานในกิจการเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์และยุติธรรม
๕. หลักความรับผิดชอบ หมายถึง ความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละบุคคล ด้วยความรับ ผิดชอบ เป็นธรรม และพัฒนางานของตนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่กิจการ สอดประสานกับงานของบุคคลอื่น จนเกิดประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของกิจการ
๖. หลักความคุ้มค่า หมายถึง การได้ประโยชน์สูงสุดในทรัพยากรของกิจการ บนพื้นฐานแห่งความประหยัดและความเป็นธรรม
การจะทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงหลักธรรมาภิบาล จนสามารถนำไปปฏิบัติให้บรรลุผล จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนผู้มุ่งหวังให้เกิดธรรมาภิบาลในกิจการ จะต้องเรียนรู้หลักธรรมในศาสนาของตน ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จนสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยหลักธรรมนั้น นี่คือธรรมมาภิบาลที่ทุกคนปรารถนาอย่างแท้จริง
เพราะตระหนักถึงความสำคัญแห่งหลักธรรมาภิบาล คณะสงฆ์จึงมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนาแก่พุทธศาสนิกชน ตามหลักสูตรธรรมศึกษา ซึ่งในปีการศึกษา ๒๕๕๒ นี้ มีผู้สนใจสมัครเรียนทั่วประเทศ ๑,๙๐๖,๘๓๙ คน โดยเรียนธรรมศึกษาชั้นตรี ๑,๑๒๓,๗๑๙ คน ธรรมศึกษาชั้นโท ๕๙๖,๙๙๑ คน ธรรมศึกษาชั้นเอก ๑๘๖,๙๙๑ น. และเพื่อให้เกิดมาตรฐานในการเรียนการสอน คณะสงฆ์ได้มอบหมายให้แม่กองธรรมสนามหลวงจัดการสอบความรู้พร้อมกันทั่วประเทศ ที่เรียกว่า “ การสอบธรรมสนามหลวง ” ในวันจันทร์ ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. โดยใช้สนามสอบรวมทั้งสิ้น ๓,๗๘๕ สนามสอบ
แม้จำนวนนักเรียนธรรมศึกษาจะมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่พัฒนาการทางพุทธธรรมของนักเรียนจนสามารถนำไปปฏิบัติให้เป็นหลักธรรมาภิบาล ต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าที่นักเรียนส่วนใหญ่จะได้เข้าร่วมในกิจการ และมีจำนวนมากพอที่จะผลักดันหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในกิจการอย่างแท้จริง เปรียบดังการใช้น้ำสะอาดบริสุทธิ์จำนวนมากเพื่อผลักดันให้น้ำเสียหมดไปจากลำคลอง
เหตุนี้ จึงได้กล่าวไว้ ณ เบื้องต้นว่า ธรรมศึกษา คือ ธรรมาภิบาลแห่งชาติ ควรที่เจ้าของกิจการจักได้สนับสนุนให้บุคคลากรในองค์กรได้เรียนธรรมศึกษา เหมือนดังที่ บริษัท ซีพีออล จำกัด ผู้บริหารกิจการ ร้าน 7 – 11 และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ที่ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
เมื่อทุกกิจการสามารถมีบุคลากรที่ทรงภูมิธรรมพื้นฐานตามหลักสูตรธรรมศึกษา ย่อมเป็นการเชื่อได้ว่า หลักธรรมาภิบาล ย่อมมีในกิจการนั้น ที่สุดการสอดประสานกันระหว่างกิจการ ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน ก็จะพัฒนาประเทศไทยให้เกิดความวัฒนาสถาพรแบบยั่งยืนได้ตลอดไป
๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๒
เวลา ๗.๒๘ น.